แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์กันระหว่างพระพุทธศาสนากับการแพทย์แผนไทยหรือเรียกว่า “พุทธศาสน์การแพทย์” พระพุทธศาสนาแบบเถรวาทเป็นรากฐานสำคัญของสังคมชาวสยามมาตั้งแต่ครั้งโบราณกาล วัฒนธรรมประเพณีและความเชื่อต่าง ๆ รวมทั้งการแพทย์ก็เช่นเดียวกัน ล้วนแล้วแต่มีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนาอย่างแนบแน่น โรคภัยไข้เจ็บและการบำบัดรักษาโรคในทัศนะของพระพุทธศาสนานั้น เป็นระบบความสัมพันธ์ขององค์ประกอบที่อาศัยซึ่งกันและกัน เป็นกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยที่สืบทอดต่อเนื่องกัน อันเป็นหลักทั่วไปในพระพุทธศาสนาที่สอดคล้องกันหมด ไม่ว่าจะเป็นหลักอริยสัจ 4 หลักไตรลักษณ์ หลักปฏิจจสมุปบาท หรือหลักขันธ์ 5 ก็ล้วนแล้วแต่สนับสนุนแนวคิดนี้ทั้งสิ้น
ภายในเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนัง ภาพเทพชุมนุมชัยมงคลคาถา ขันธ์ 5 ธาตุ 6 และภาพทศชาติชาดก ในห้องนำเสนอการจัดโต๊ะหมู่บูชา มีพระพุทธสิหิงค์ประดิษฐานอยู่ในบุษบกเป็นพระประธาน ตามตำนานสิงคนิทาน กล่าวว่า สร้างขึ้นที่ลังกาทวีป เป็นพระพุทธรูปสำคัญคู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่งของประเทศสยาม ส่วนบนโต๊ะหมู่บูชา เป็นที่ประดิษฐานพระไภษัชยคุรุไวฑูรยประภา เป็นพระพุทธเจ้าองค์หนึ่งในพุทธศาสนามหายานในคัมภีร์ลลิตวิสตระ กล่าวว่า พระองค์เป็นแพทย์ผู้ยิ่งใหญ่ผู้ซึ่งปลดเปลื้องความเจ็บปวดและทุกข์ทรมานของมวลมนุษย์โลกโดยนำเข้าสู่กระแสแห่งนิพพาน นอกจากนี้ยังมีพระประจำวันทั้ง 7
วงจรเกิด แก่ เจ็บ ตาย
พระพุทธศาสนากล่าวว่า ชีวิต คือ ขันธ์ 5 อันประกอบไปด้วย รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ การแพทย์แผนไทยมีความเชื่อในเรื่องของการเกิดว่า เกิดจาการปฏิสนธิวิญญาณมาเกิดโดยที่จะต้องอาศัยความเป็นชาย (ปุริสภาวะ) จากบิดา ความเป็นหญิง (อิตถีภาวะ) จากมารดา เมื่อชีวิตได้อุบัติเกิดขึ้น วิญญาณได้เกิดขึ้นแล้วนั้นก็จะเข้าสู่วงจรของการเวียนว่ายตายเกิดต่อไปอีกครั้งหนึ่ง โดยเริ่มตั้งแต่วัยเด็ก วัยกลางคน วัยชรา แล้วก็ตายในที่สุด ในทางพระพุทธศาสนากล่าวว่า ธาตุ มีทั้งสิ้น 6 ธาตุ ได้แก่
-
ปฐวีธาตุ ธาตุดิน
-
อาโปธาตุ ธาตุน้ำ
-
เตโชธาตุ ธาตุไฟ
-
วาโยธาตุ ธาตุลม
-
อากาศธาตุ ช่องว่างที่มีอยู่ในกายนี้
-
วิญญาณธาตุ ความรู้อะไรได้ และวิญญาณ รูป ยังแบ่งออกเป็น มหาภูตรูป 4 และอุปทายรูป 24