ศาลา 2 พระบิดาแห่งการแพทย์แผนไทย
แสดงเกี่ยวกับพระมหากรุณาธิคุณของรัชกาลที่ 3 ที่ทรงทำให้การแพทย์แผนไทยมีความเจริญรุ่งเรือง เกิดคุณูปการแก่ประชาชนในวงกว้าง ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและเพื่อเทิดพระเกียรติและแสดงถึงความกตัญญูกตเวที จึงถวายพระราชสมัญญา “พระบิดาแห่งการแพทย์แผนไทย” และกำหนดให้วันที่ 29 ตุลาคม ของทุกปี เป็น “วันภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยแห่งชาติ”
          พระราชประวัติ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า พระบิดาแห่งการแพทย์แผนไทย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ประสูติแต่สมเด็จพระศรีสุลาไลย เจ้าจอมมารดาเรียม เสด็จพระราชสมภพ เมื่อวันจันทร์ที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2330 ตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระนามว่า “หม่อมเจ้าชายทับ”
          ต่อมาในปี พ.ศ. 2356 ขณะพระชนมายุได้ 26 พรรษา สมเด็จพระบรมชนกนาถ ทรงสถาปนาให้ขึ้นดำรงพระยศเจ้าต่างกรม มีพระนามกรมว่า “พระเจ้าลูกเธอ กรมหมื่นเจษฏาบดินทร์”
          เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เสด็จสวรรคต ในยุคสมัยนั้นยังไม่มีกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบสันตติวงศ์ โดยมิได้ทรงมอบพระราชสมบัติให้แก่พระราชโอรสพระองค์ใด พระบรมวงศานุวงศ์และขุนนางผู้ใหญ่จึงประชุมหารือให้ความเห็นว่าควรอัญเชิญพระราชโอรสพระองค์โต ด้วยพระปรีชาสามารถหลายด้าน ทรงมีความรู้ความชำนาญทางด้านการปกครองเป็นอย่างดี สนองพระเดชพระคุณในรัชกาลสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยมาเป็นเวลานาน แล้วลงมติกันว่าควรถวายพระราชสมบัติให้แก่พระเจ้าลูกเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ สืบราชสมบัติแทนเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 3 แห่งราชวงศ์จักรีไทย พระนามว่า “พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว” ในวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2367 มีพระชนมายุได้ 37 พรรษา
          พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า มีพระราชกรณียกิจที่สำคัญยิ่งประการหนึ่ง คือ การรวบรวมองค์ความรู้ด้านการแพทย์แผนไทยมาเผยแพร่ในวงกว้าง ทำให้ภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยเป็นรากฐานของชาติไทย และตามหลักฐานจารึกแผ่นศิลาว่าด้วยการปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร วันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2374 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า เสด็จพระราชดำเนินมาทรงถวายผ้าพระกฐิน และได้ทอดพระเนตร เห็นพระอุโบสถ พระวิหาร พระระเบียง กุฎิ เสนาสนะต่างๆ ชำรุดปรักหักพังมาก จึงมีพระราชศรัทธาจะปฏิสังขรณ์ มีพระบรมราชโองการให้รื้อถอนพระอุโบสถเดิม และก่อเสนาสนะสงฆ์ต่างๆ มีการจารึกตำราการแพทย์แผนไทยติดประดับไว้ ตามศาลาราย มีการจัดสร้างรูปฤาษีดัดตน ตั้งไว้ศาลาละ 4-5 รูป รวม 16 หลัง และยังจารึกตำรายาต่างๆ ติดประดับไว้ในศาลา ทั้ง 16 หลัง นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่ทำให้การแพทย์แผนไทยมีความเจริญรุ่งเรือง เกิดคุณูปการแก่ประชาชนในวงกว้าง ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและเพื่อเทิดพระเกียรติและแสดงถึงความกตัญญูกตเวที จึงถวายพระราชสมัญญา “พระบิดาแห่งการแพทย์แผนไทย” และกำหนดให้วันที่ 29 ตุลาคม ของทุกปี เป็น “วันภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยแห่งชาติ”